โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในโครงการสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศเป็นไปตามการสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนน และเพิ่มเส้นทางอพยพภัยพิบัติในพื้นที่ นอกจากนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทางส่วนต่อขยายกะทู้-ป่าตอง ช่วงสนามบินภูเก็ต-เกาะแก้ว-กะทู้ เชื่อมต่อกันเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในจังหวัดภูเก็ต

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 อนุมัติให้ กทพ. ดำเนินงานโครงการ โดยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ภาคเอกชนรับผิดชอบในการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง (รวมถึงค่าควบคุมงาน) และการดำเนินงานและบำรุงรักษา โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด ทั้งนี้ เอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มเปิดบริการในลักษณะของ BTO (Build-Transfer-Operate) มีระยะเวลาร่วมลงทุนรวม 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

กทพ. จึงเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการ จัดทำสาระสำคัญของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ของโครงการฯ ตามขั้นตอนพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

แนวเส้นทางโครงการ

โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ มีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตา ในพื้นที่ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ มุ่งไปทางทิศตะวันออก เป็นทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์จนถึงเขานาคเกิด ระยะทาง 0.9 กม. จากนั้นจะเป็นอุโมงค์ระยะทาง 1.85 กม. ลอดใต้เทือกเขานาคเกิด หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ ระยะทาง 1.23 กิโลเมตร จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 (ถนนพระบารมี) รูปแบบจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง (สำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรต่อทิศทาง) โดยบริเวณจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ จะก่อสร้างเป็นทางแยกต่างระดับ พร้อมติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทางบริเวณด้านกะทู้ จำนวน 1 ด่าน เก็บค่าผ่านทางทั้ง 2 ทิศทาง

ความพิเศษของโครงการ - เป็นทางพิเศษอุโมงค์สายแรกของประเทศไทย และเป็นทางพิเศษสายแรกของที่เปิดให้รถจักรยานยนต์วิ่งได้ รวมทั้งการออกแบบมาให้ใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติ

 

โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

ประโยชน์ทางตรง
ทางหลวงหมายเลข 4029 เป็นถนนเพียงเส้นทางเดียวที่รองรับการเดินทางจากเมืองภูเก็ตที่เป็นเขตเศรษฐกิจ ย่านการค้าและการท่องเที่ยวไปยังหาดป่าตอง ซึ่งเป็นชายหาดที่สวยงามและมีชื่อเสียงระดับโลก เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพเส้นทางที่ลาดชันและคดเคี้ยวและต้องรองรับปริมาณจราจรจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้น การพัฒนาทางพิเศษเป็นทางเลือกในการเดินทางที่ตัดตรงโดยการเจาะอุโมงค์ผ่านภูเขา จะเป็นการเพิ่มเส้นทางการเดินทางระหว่างตัวเมืองฝั่งตะวันออกของภูเก็ตไปยังหาดป่าตอง ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปยังหาดป่าตอง ทำให้ขีดความสามารถในการรองรับการเดินทางระหว่างเมืองภูเก็ตและหาดป่าตองมีมากยิ่งขึ้น ช่วยลดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพเส้นทางที่ลาดชันและคดเคี้ยว รวมทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ และช่วยลดเวลาในการเดินทางได้อีกด้วย นอกจากนี้ ทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้นของโครงข่ายถนนในพื้นที่ และเนื่องจากเป็นทางพิเศษจึงเป็นการเพิ่มมาตรฐานแนวเส้นทางให้มีความสะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการเดินทางของทั้งผู้ใช้บริการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง และผู้ใช้บริการโครงข่ายถนนเดิม

ประโยชน์ทางอ้อม
การพัฒนาโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดภูเก็ตอีกทางหนึ่งโดยจะเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ตมากกว่า 13.3 ล้านคนในแต่ละปี และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่การเดินทางท่องเที่ยวภายในจังหวัดภูเก็ตจะต้องใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะหลัก ซึ่งการพัฒนาทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตองจะเป็นการเพิ่มความสะดวกสบาย และความรวดเร็วในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว จึงถือว่าเป็นการส่งเสริมให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว จึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นการส่งเสริมให้จังหวัดภูเก็ตมีศักยภาพในการรองรับจานวนนักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (ภูเก็ต-พังงา-กระบี่) ที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ภาคใต้และประเทศไทยในอนาคต
image
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้