ขอบเขตการดำเนินงานโครงการ

ขอบเขตของการดำเนินงานโครงการ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ระยะเวลาไม่มากกว่า 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มปฎิบัติงาน

ระยะที่ 2 การดำเนินงานและงานบำรุงรักษา ระยะเวลานับจากสิ้นสุดระยะเวลาสำหรับงานในระยะที่ 1 โดยมีระยะเวลารวมทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไม่มากกว่า 35 ปี

ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ระยะเวลาไม่มากกว่า 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มปฎิบัติงาน ประกอบด้วย

1. งานโยธา

งานโครงสร้างทางยกระดับ
โครงสร้างทางยกระดับของสายทางหลักเป็นคานคอนกรีตอัดแรงรูปตัว I (I-Beam Girder) ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง แบ่งเป็นช่องจราจรสำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร และช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 1.75 เมตร โดยมีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 1.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันชนคอนกรีต (Concrete Barrier) เพื่อแบ่งแยกช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกจากกันเพื่อความปลอดภัย

อาคารด่านเก็บค่าผ่านทางและศูนย์ควบคุมทางพิเศษ

ด่านเก็บค่าผ่านทางตั้งอยู่บริเวณด้านกะทู้ จำนวน 1 ด่าน ทั้งทิศทางกะทู้-ป่าตอง และทิศทางป่าตอง-กะทู้ ประกอบด้วยช่องเก็บค่าผ่านทางทิศทางละ 9 ช่องทาง แบ่งเป็นสำหรับรถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ช่องทาง (6 ตู้) รถยนต์ จำนวน 5 ช่องทาง และรถบรรทุก จำนวน 1 ช่องทาง โดยมีพื้นที่สำหรับจัดทำช่องเก็บค่าผ่านทางในอนาคตด้านละ 1 ช่องทาง ดังแสดงในรูปแบบด่านเก็บค่าผ่านทาง และมีศูนย์ควบคุมทางพิเศษอยู่บริเวณด้านข้างของด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 1 อาคาร ดังแสดงในรูปแบบศูนย์ควบคุมทางพิเศษ

งานอุโมงค์

เป็นอุโมงค์คู่ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง แบ่งเป็นช่องจราจรสำหรับรถยนต์ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร มีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 2.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร และช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจรกว้างช่องละ 1.75 เมตร โดยมีไหล่ทางด้านซ้ายกว้าง 1.00 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 0.50 เมตร และติดตั้งราวกันชนคอนกรีต เพื่อแบ่งแยกช่องทางสำหรับรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกจากกัน และเพื่อความปลอดภัยในการจราจร ทางเท้าข้างอุโมงค์กว้างข้างละ 1.00 เมตร เพื่อการซ่อมบำรุงและกรณีฉุกเฉิน แต่ละอุโมงค์มีความกว้างภายในรวม 17.10 เมตร และออกแบบเพื่อปรับการทรุดตัวของโครงสร้างระหว่างโครงสร้างทางยกระดับกับโครงสร้างอุโมงค์ รวมทั้งต้องออกแบบป้องกันการพังทลายของชั้นดินที่บริเวณปากอุโมงค์ด้วย

 

2. งานระบบ เอกชนจะต้องเป็นผู้ออกแบบ ลงทุนและติดตั้งงานระบบของโครงการ ดังนี้

ระบบภายในอุโมงค์

- ระบบระบายอากาศ (Ventilation System) มีไว้เพื่อระบายมลสารอันตรายที่เกิดจากไอเสียของรถ สำหรับในโครงการนี้เป็นระบบระบายอากาศแบบตามยาวของอุโมงค์ โดยใช้ Jet Fan ทุกๆ ระยะ 500 เมตร และมีตัวกรองอากาศก่อนปล่อยสู่สาธารณะตามมาตรการของสิ่งแวดล้อม

- ระบบฉุกเฉินและป้องกันอัคคีภัย (Emergency system) อุปกรณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้ถูกออกแบบและติดตั้งเพื่อป้องกันและลดความเสียหายเนื่องจากไฟไหม้หรืออุบัติเหตุในอุโมงค์ ดังนั้น ระบบนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนการก่อสร้างอุโมงค์

- ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง (Lighting system) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุบัติเหตุและการขับขี่ที่คล่องตัวทั้งระหว่างกลางวันและกลางคืน โดยระบบไฟฟ้าส่องสว่างในอุโมงค์จะมีลักษณะแตกต่างจากระบบไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่โล่ง โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าและทางออกในช่วงกลางวันจะมีการให้ระดับความสว่างมากกว่าเวลากลางคืน ทั้งนี้ เพื่อลดระดับความแตกต่างระหว่างแสงสว่างในอุโมงค์และภายนอก ไฟส่องสว่างของอุโมงค์

- อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย/การควบคุมการใช้งาน/การสื่อสาร (Controller System) ประกอบด้วย อุปกรณ์ให้ข้อมูลและเตือนภัย ถังดับเพลิง อุปกรณ์ชุดดับเพลิง ป้ายบอกทาง เครื่องดูดควันไฟ อุโมงค์ฉุกเฉิน รวมทั้งจัดให้มีรถพยาบาลหรือรถรับ-ส่งเข้ามารับคนอพยพออกจากอุโมงค์

- ระบบระบายน้ำภายในอุโมงค์ (Drainage System) การออกแบบระบบระบายน้ำภายในอุโมงค์เพื่อไม่ให้มีน้ำท่วมขัง ซึ่งอาจเกิดจากการรั่วซึมของน้ำใต้ดิน น้ำที่เกิดจากการชำระล้างทำความสะอาด และ/หรือน้ำที่เกิดจากการใช้น้ำในการดับเพลิง


ระบบการระบายน้ำของทางพิเศษ ประกอบด้วยสามส่วน ส่วนแรกคือระบบการระบายน้ำในทางแยกต่างระดับซึ่งจะเป็นการระบายน้ำออกจากระบบทางแยกต่างระดับไม่ให้ท่วมขังในพื้นที่จนเป็นอันตรายต่อคันทางส่วนที่อยู่ระดับพื้นดิน ส่วนที่สอง คือระบบการระบายน้ำสาหรับโครงสร้างทางยกระดับ และส่วนที่สาม คือการระบายน้ำภายในอุโมงค์

ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง การจัดเก็บค่าผ่านทางของโครงการเป็นแบบระบบเปิด (Open System) เก็บค่าผ่านทางอัตราเดียว (Flat Rate) เป็นระบบที่เหมาะสมสำหรับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ซึ่งมีระยะทางของสายทางที่สั้น รวมทั้งไม่มีการเชื่อมโยงโครงข่ายไปยังสายทางทางพิเศษส่วนอื่น ๆ โดยเป็นการเก็บค่าผ่านทางเฉพาะกับรถที่ผ่านใช้งานในสายทางเท่านั้น

ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจร จะต้องออกแบบให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทาง โดยอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วย ระบบตรวจนับปริมาณจราจรแบบอัตโนมัติ ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ระบบสื่อสาร ระบบป้ายปรับเปลี่ยนข้อความอัตโนมัติ ระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน และระบบการตรวจจับความเร็วยานพาหนะ

มาตรการรักษาความปลอดภัยของผู้ใช้ทางพิเศษของโครงการ เนื่องจากโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ได้ออกแบบเป็นทางพิเศษยกระดับซึ่งมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทาง และเปิดให้รถจักรยานยนต์วิ่งได้ จึงออกแบบให้มีช่องทางรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะโดยมีการติดตั้งราวกันชนคอนกรีต (Concrete Barrier) เพื่อแบ่งแยกรถจักรยานยนต์และรถยนต์ออกจากกัน เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง

 

ระยะที่ 2 การดำเนินงานและงานบำรุงรักษา ระยะเวลานับจากสิ้นสุดระยะเวลาสำหรับงานในระยะที่ 1 โดยมีระยะเวลารวมทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไม่มากว่า 35 ปี ประกอบด้วย

งานบำรุงรักษางานโยธา
เอกชนจะต้องเป็นผู้ดูแลและบำรุงรักษาทรัพย์สินของโครงการให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามมาตรฐานที่ กทพ. กำหนดตลอดเวลา โดยจะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุและเครื่องมือต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์สำรองสำหรับซ่อมแซมและบำรุงรักษาโครงการให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน

งานบำรุงรักษางานระบบ
เอกชนจะต้องดูแลและบำรุงรักษาเปลี่ยนงานระบบทั้งหมดของโครงการให้อยู่ในสภาพดี และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา รวมทั้งจะต้องวางแผนสำรองชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ ให้เพียงพอต่อการบำรุงรักษางานระบบของโครงการ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้